ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยสมุนไพรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
การนำสมุนไพรอันเป็นทรัพยากรมีค่าของประเทศมาใช้ประโยชน์ในการสาธารณสุขเป็นสิ่งจำเป็นและเหมาะสม
สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย
และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าของประเทศ
การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรมีเป้าหมายเพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบัน
เพื่อสนับสนุนการส่งออก และเพื่อขยายการบริโภคสมุนไพรในประเทศ
ในการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในระบบบริการสุขภาพอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย
จำเป็นต้องศึกษาวิจัยอย่างครบวงจร สถาบันวิจัยสมุนไพร
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาวิจัยสมุนไพรมาเป็นเวลากว่า 20 ปี
ได้พัฒนาสมุนไพรที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์หลายชนิด
ล่าสุดได้พบสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงสามารถนำไปพัฒนาสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ดีคือ
สมุนไพรเจียวกู่หลาน
เจียวกู่หลาน หรือปัญจขันธ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Gynostemma pentaphyllum Makino วงศ์
Cucurbitaceae เป็นพืชล้มลุกชนิดเถา เลื้อยขนานกับพื้นดิน รากงอกจากข้อ
เป็นประเภทแดงน้ำเต้า
สมุนไพรชนิดนี้มีการใช้กันมากในประเทศญี่ปุ่นและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในประเทศจีนใช้เป็นยาต้านการอักเสบ แก้ไอ ขับเสมหะ และแก้หลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง
ในประเทศญี่ปุ่นได้นำมาเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์แก้ผมหงอก
ดับกลิ่นตัว เครื่องดื่มสมุนไพร อาหารเสริมสุขภาพ
และใช้เป็นสารปรุงแต่งในอาหารเสริมสุขภาพ มีรายงานว่า Gypenosides
ซึ่งเป็นสารประเภท saponins ที่พบในสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด
โดยการเพิ่มค่า HDL และลดค่า LDL เสริมระบบภูมิคุ้มกันทั้งในสัตว์ทดลองและทางคลินิก
ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก รักษาแผลกระเพาะอาหาร ต้านการอักเสบ แก้ปวด
และยับยั้งการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด
ในประเทศไทยพบเกิดเองตามธรรมชาติที่ดอยอินทนนท์
ปัจจุบันมีการปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่บ้างแต่ยังไม่แพร่หลายนัก
เพราะมีปัญหาเรื่องความแข็งแรงของต้นพันธุ์ อีกทั้งเป็นพืชล้มลุกและตายง่าย
ในฤดูฝนจะหยุดเจริญเติบโต
แต่ส่วนใต้ดินยังเจริญอยู่
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดเจียวกู่หลานต่อระบบภูมิคุ้มกันแบบอาศัยเซลล์ของหนูถีบจักรที่ถูกกดภูมิคุ้มกันโดยการฉายรังสีแถบแกมมาขนาด
4 Gy ก่อนให้สารสกัดขนาด 32 มก./กก./วัน และขนาด 160 มก./กก./วัน เป็นเวลา 10 วัน
พบว่าการแบ่งตัวของลิมโฟซัยท์เมื่อถูกกระตุ้นด้วย PHA, LPS และ ConA
กลับสู่สภาวะปกติในวันที่ 15 ของการศึกษา เมื่อทดสอบโดยใช้ mononuclear cells
จากกระแสเลือดของคนปกติ
พบว่าสารสกัดเจียวกู่หลานช่วยเพิ่มการแบ่งตัวของลิมโฟซัยท์อย่างมีนัยสำคัญที่ความเข้มข้นตั้งแต่
1 ng/ml ถึง 100 g/ml
รวมทั้งแสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์เอชไอวีโปรทีเอสในหลอดทดลองได้ผลดี
เมื่อทดสอบความเป็นพิษทั้งพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรังของสารสกัดเจียวกู่หลานในหนูขาว
พบว่าสารสกัดเจียวกู่หลานมีความปลอดภัยสูงแม้ว่าจะให้สารสกัดในขนาดสูงถึง 750
มก./กก./วัน จากการศึกษาความปลอดภัยของสารสกัดเจียวกู่หลานในอาสาสมัครจำนวน 30 ราย
โดยกำหนดเกณฑ์คัดเลือกอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ
และเกณฑ์การเลิกการเข้าร่วมการศึกษาอย่างชัดเจน มีการสัมภาษณ์
ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการทุก 2
สัปดาห์เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยา ทางชีวเคมีของซีรัม
และต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีระยะเวลาศึกษาประมาณ 3 เดือน
โดยคัดเลือกอาสาสมัครตามเกณฑ์ที่กำหนด แบ่งอาสาสมัครเป็น 2 ชุดๆละ 15 คน
ให้อาสาสมัครชุดที่ 1 รับประทานสารสกัดเจียวกู่หลานแคปซูลครั้งละ 1 แคปซูล
(gypenosides 40 มก./แคปซูล) หลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกันนาน 2
เดือน และอาสาสมัครชุดที่ 2 รับประทานสารสกัดเจียวกู่หลานแคปซูลครั้งละ 2 แคปซูล
(gypenosides 40 มก./แคปซูล) หลังอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกันนาน 2
เดือน เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการเสริมภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ
ผลการศึกษาพบว่า เมื่อให้อาสาสมัครรับประทานสารสกัดเจียวกู่หลานแคปซูลครั้งละ 1-2
แคปซูล (gypenosides 40 มก./แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 2 เดือน
มีความปลอดภัย และไม่พบอาการผิดปกติใดๆ
ดังนั้นจึงสมควรศึกษาประสิทธิผลทางคลินิกเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่อไป
เจียวกู่หลาน
(ปัญจขันธ์)